WorldMedic  IVF  Provides a fully integrated Infertility Clinic Management

Call Center : 02-949-7806 087-675-9933 088-208-5130

  Monday - Friday 08:30 - 17:30
  Saturday and Sunday - CLOSED

 Phone: (66) 02-949-7816-20
 [email protected]

  WorldMedic Information & Technology 
  42/1 Ramindra Rd. Bangkok.

ความหมาย IVF

 

 

 

ข้อมูล IVF New Edition

ในทางการแพทย์ ภาวะการมีบุตรยากมิได้หมายความว่าไม่มีโอกาสมีบุตรอีกต่อไป ทว่าเป็นเรื่องของการมีโอกาสน้อยกว่าผู้อื่นในการมีบุตร จากสถิติของประชากรวัยเจริญพันธุ์ในประเทศไทย ประมาณ 10 ล้านคู่ จะมีคู่สมรสประมาณ 1.5 ล้านคู่ที่ประสบกับปัญหาภาวะการมีบุตรยาก ภาวะการมีบุตรยาก จำแนกออกเป็นสองประเภทคือ


1.ภาวะการมีบุตรยากชนิดปฐมภูมิ หมายถึงคู่สมรสดังกล่าวไม่เคยมีการตั้งครรภ์มาก่อน
2.ภาวะมีบุตรยากชนิดทุติยภูมิ คือคู่สมรสดังกล่าวเคยตั้งครรภ์มาแล้ว แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ครั้งถัดไป

 

สำหรับคู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองโดยวิธีธรรมชาติและยินดีที่จะทำการรักษาจึงจำ เป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือคู่สมรสให้ตั้งครรภ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับรักษาภาวะมีบุตรยาก ได้พัฒนาจากอดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งมีอยู่หลายวิธี การจะเลือกใช้วิธีใดในการรักษาขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์และความเหมาะสมในแต่ละกรณี

 

การให้การรักษา

 

1. การให้คำแนะนำในการรักษา
เจ้าหน้าที่หรือแพทย์จะซักประวัติส่วนตัว ประวัติประจำเดือน ประวัติการแต่งงานและการมีบุตร การมีเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น ในการมารับบริการครั้งแรกควรมาพร้อมกันทั้งสามีและภรรยาเพื่อรับคำปรึกษาและหาสาเหตุการมีบุตรยากจากทั้งสองฝ่าย


2. การตรวจหาสาเหตุในฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะได้รับการตรวจร่างกาย, ตรวจเลือด เช่น กรุ๊ปเลือด, ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, เชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี, ซิฟิลิส, ภูมิไวรัสเอดส์, ภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (เฉพาะผู้หญิง) เพื่อดูว่ามีโรคหรือภาวะบางอย่างที่มีอันตรายหรือเป็นข้อห้ามในการตั้งครรภ์หรือไม่
ฝ่ายชายจะได้รับการตรวจอสุจิ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย (FSH, LH, Testosterone, Prolactin) เพิ่มเติม
ฝ่ายหญิงจะได้รับการตรวจดูระดับฮอร์โมนเพศ (FSH, LH, Prolactin, Progesterone, Estradiol) ในช่วงต่างๆ ของรอบเดือน ตรวจมูกปากมดลูก ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดดูขนาดถุงรังไข่, ตรวจเอ็กซเรย์ฉีดสีท่อนำไข่, ส่องกล้องตรวจทางหน้าท้อง หรือส่องกล้องตรวจในโพรงมดลูก แพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ จากนั้นรักษาตามสาเหตุ ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนผลที่ได้จะไม่คุ้มกับเสีย ส่วนจะเลือกวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็นและสภาพของผู้รับบริการทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิง

3. การเซ็นใบอนุญาตในการทำการรักษา
เมื่อตัดสินใจเข้ารับการรักษาทางโรงพยาบาลจะให้คู่สมรสเซ็นยินยอมการรักษา หากจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

 

เทคโนโลยีการรักษาผู้มีบุตรยาก

 

การกระตุ้นรังไข่และการผสมเทียม (Intrauterine Insemination: IUI)
การฉีดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงผ่านการคัดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการปฏิสนธิ (ช่วงเวลาไข่ตก) เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิกับไข่ วิธีนี้จะทำในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่มีปัญหาเรื่องท่อนำไข่อุดตัน นอกจากนี้ในกรณีอื่น เช่น ปัญหาบางส่วนที่ปากมดลูก, ภาวะฮอร์โมนรังไข่ทำงานผิดปกติ หรือยังไม่ประสบความสำเร็จโดยวิธีธรรมชาติหรือนับช่วงวันไข่ตก และเป็นวิธีรักษาอีกทางเลือกหนึ่งในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของเชื้อ หรือมีปัญหาด้านการหลั่งเชื้อ
วิธีทำการผสมเทียมมีหลายวิธี ได้แก่ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าช่องคลอด เข้าปากมดลูก เข้าโพรงมดลูกหรือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าหลอดมดลูกโดยตรง ในบรรดาวิธีทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว วิธีที่นิยมแพร่หลายและมีอัตราความสำเร็จในเกณฑ์ดี คือ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก ซึ่งเชื้ออสุจิที่จะฉีดจะต้องผ่านการล้างเอาเชื้อแบคทีเรีย และสารต่างๆออก และคัดเฉพาะเชื้ออสุจิที่แข็งแรง การผสมเทียมนี้เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งโดยปกติการผสมเทียมมักจะประสบผลสำเร็จภายใน 3-6 รอบเดือนของการรักษา ถ้ายังไม่ตั้งครรภ์ควรจะประเมินหาสาเหตุซ้ำเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

 

การเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในท่อนำไข่ (Gamete Intrafallopian - Transfer : GIFT)
คือ คือการนำไข่และอสุจิไปใส่ที่ท่อนำไข่ เริ่มจากการนำไข่ออกมาก่อน หลังจากนั้นจึงนำไข่กับเชื้ออสุจิฉีดเข้าท่อนำไข่ผ่านการผ่าตัดส่องกล้องให้ไข่กับเชื้ออสุจิผสมกันบริเวณท่อนำไข่ หากเชื้อสมบูรณ์ดีจะเกิดการปฏิสนธิวิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อย่างน้อย 1 ข้าง และฝ่ายชายอสุจิปกติ

 

ขั้นตอนการรักษา
1. กระตุ้นการเจริญเติบโตของถุงรังไข่ โดยใช้ยากระตุ้นให้ไข่สุกพร้อมกันหลายใบ แพทย์ติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ และการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด
2. เมื่อไข่พร้อม สามีจะทำการเก็บน้ำเชื้อเพื่อคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรง ส่วนภรรยาจะทำการเก็บไข่ โดยผ่านทางหน้าท้องด้วยกล้องส่องตรวจทางหน้าท้อง เมื่อได้ไข่และอสุจิแล้วจะนำกลับเข้าไปทางท่อนำไข่
3. การให้ฮอร์โมนเพื่อช่วยการฝังตัวของตัวอ่อน แพทย์จะให้ฮอร์โมน Progesterone เพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน
4. การทดสอบการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อดูการตั้งครรภ์ หลังจากทำประมาณ 14 วัน

 

ข้อดี-ข้อเสีย
1.เลียนแบบวิธีธรรมชาติมากที่สุด ทำให้อัตราการตั้งครรภ์สูง
2.การเก็บไข่และย้ายตัวอ่อนโดยใช้กล้องส่องตรวจทางหน้าท้อง เจ็บมากกว่าวิธีเก็บไข่ และย้ายตัวอ่อนทางช่องคลอด
3.ถ้าไม่ตั้งครรภ์ จะไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการปฏิสนธิหรือจากการฝังตัวอ่อน

 

เราสามารถแก้ไขภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร?

 

ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาสาเหตุที่แก้ไขได้
- การให้ยารักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ โรคทางร่างกายอื่นๆ
- การผ่าตัดแก้ไขในรายที่ท่อนำไข่อุดตัน เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ พังผืดในอุ้งเชิงกราน เส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ
- การใช้ยาร่วมกับการผ่าตัดด้วยกล้อง Laparoscope ในบางราย


อย่างไรก็ตามมีหลายสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขแล้วคู่สมรสก็ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เอง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต่างๆ ช่วยเหลือคู่สมรสให้ตั้งครรภ์ ซึ่งได้แก่
- การฉีดชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI )
- การทำกิ๊ฟ (GIFT)


การปฏิสนธินอกร่างกาย ได้แก่
- การทำเด็กหลอดแก้ว ( IVF-ET )
- การทำซิฟท์ (ZIFT)
- การทำเท็ท ( TET )
- การทำอิ๊คซี่ ( ICSI )
- การตรวจความสมบูรณ์ของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Preimplantation diagnosis : PGD)
- การใช้เทคโนโลยีช่วยการฟักตัวอ่อน (Laser Assisted Hatching : LAH)

 

การปฏิสนธินอกร่างกาย

คือการนำไข่และเชื้ออสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นใส่กลับเข้าหลอดมดลูกหรือโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์


การเคลื่อนย้ายตัวอ่อนระยะ Pronuclear stage เข้าไปในท่อนำไข่ (Zygote Intrafallopian Transfer : ZIFT/ Pronuclear stage Tubal Transfer : PROST)
วิธีการคล้ายกับการทำ GIFT แต่จะทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกายจนเป็นตัวอ่อนระยะ 1 เซลล์ ที่เราเรียกว่า Zygote แล้วจึงทำการผ่าตัดส่องกล้องย้ายกลับทางท่อนำไข่ตัวอ่อน


เท็ท (Tubal Embryo Transfer: TET) คือ การเลี้ยงไข่ที่ปฏิสนธิแล้วต่ออีก 1 วัน ให้มีการแบ่งเซลล์ก่อน อาจเป็นระยะ 2-4 หรือ 6 เซลล์ หรือที่เรียกว่า “ตัวอ่อน” แล้วจึงใส่กลับเข้าไปที่ท่อนำไข่ ZIFT และ TET ต่างจาก GIFT คือรอให้มีการปฏิสนธิกัน แล้วจึงใส่กลับสู่โพรงมดลูก


การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertillization :IVF)
เด็กหลอดแก้ว เริ่มทำเป็นครั้งแรกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อ 20 ปีเศษ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในคน การปฏิสนธินอกร่างกาย โดยการใช้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ให้ได้ไข่หลายๆ ใบ เมื่อไข่สุกเต็มที่แล้ว จะทำการเจาะเก็บไข่และอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายและแบ่งเป็นตัวอ่อน เมื่อตัวอ่อนอายุประมาณ 3 - 5 วันจึงทำการย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกทางปากมดลูกของฝ่ายหญิง การปฏิสนธิภายนอกร่างกายเหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติที่ท่อนำไข่, เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กรณีที่ฝ่ายชายมีอสุจิจำนวนน้อย หรือไม่ทราบสาเหตุ


การนำอสุจิ1 ตัวเจาะเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ (Intracytoplasmic Sperm Injection :ICSI)
คือการช่วยปฏิสนธินอกร่างกายในระหว่างกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ภายหลังจากทำการเจาะไข่ออกมาแล้ว จะใช้เข็มแก้วที่มีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมดึงเซลล์อสุจิ 1 เซลล์แล้วฉีดเข้าไปในไข่เพื่อช่วยการปฏิสนธิโดยตรง เป็นการช่วยเหลือการปฏิสนธิโดยนำอสุจิจำนวน 1 ตัวฉีดผ่านผนังชั้นที่หุ้มไข่ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่มีกำลังขยาย 200 – 400 และนำมาเลี้ยงเหมือนเด็กหลอดแก้ว เมื่อตัวอ่อนมีการแบ่งตัวจะนำมาย้ายกลับทางโพรงมดลูก วิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายชายมีปัญหาเชื้อน้อยมากหรือตัวอ่อนไม่ปฏิสนธิจากการทำเด็กหลอดแก้ว

 

ขั้นตอนการรักษา
1. กระตุ้นการเจริญเติบโตของถุงรังไข่ โดยใช้ยากระตุ้นเพื่อให้ไข่สุกพร้อมกันหลายๆ ใบ แพทย์ติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยวิธีตรวจอัลตร้าซาวด์ และการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด
2. การเก็บไข่ เมื่อไข่พร้อมแพทย์จะทำการเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยอาศัยคลื่นเสียงความถี่สูง ส่วนสามีจะทำการเก็บน้ำเชื้อ และนำไปทำการคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรง
3. นำอสุจิ 1 ตัวฉีดผ่านผนังชั้นที่หุ้มไข่ และนำไปเลี้ยงในตู้เลี้ยงตัวอ่อน
4. หลังจากเลี้ยงตัวอ่อนได้ประมาณ 3 – 5 วัน จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับทางโพรงมดลูก
5. แพทย์จะให้ฮอร์โมน Progesterone เพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน
6. หลังจากย้ายตัวอ่อนได้ประมาณ 10 – 14 วัน แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูการตั้งครรภ์